8 เทคนิค ขอสินเชื่อ ให้ผ่านในครั้งเดียว


1069 Views

  อังคารที่ 31 ตุลาคม 2560

รู้หรือไม่ว่าอะไรคือสิ่งที่หายากมากที่สุดอย่างหนึ่งในการทำธุรกิจ ณ ขณะเวลาปัจจุบัน คำตอบก็คือการทำธุรกิจโดยปราศจากการขอกู้ยืมเงินทุนจากทางธนาคารนั่นเอง ซึ่งเชื่อว่าทุกบริษัทในทุกสาขาธุรกิจต่างต้องเคยผ่านประสบการณ์ในจุดดังกล่าวมาด้วยกันแล้วทั้งสิ้น มิหนำซ้ำ อาจจะอยู่ในช่วงของการรอฟังคำตอบหรือไม่ ก็อาจจะมีแนวคิดในการขอกู้ยืมเงินมาลงทุนในอนาคตจากทางธนาคารอยู่ก็เป็นได้ และชื่อเสียงที่ได้รับการกล่าวขานร่ำลือกันมาอย่างยาวนานอยู่คู่กันกับการขอ สินเชื่อ จากทางธนาคารก็คือเรื่องขอการถูกปฏิเสธ
 
 
ในสภาวะทางเศรษฐกิจยุคปัจจุบัน ผู้ประกอบการหลายคนไม่เข้าใจว่าทำไมการขอ สินเชื่อ ให้ธุรกิจของตนเองจึงถูกปฏิเสธทั้งๆที่มีแผนงานและการเขียนโครงการอย่างอลังการ ซึ่งความจริงแล้วสาระสำคัญมันไม่ได้อยู่ที่จุดนั้นแต่เพียงอย่างเดียว มันมีอะไรที่สลับซับซ้อนกว่านั้นมาก ในมุมมองของทางธนาคารกับการอนุมัติให้ สินเชื่อ ซึ่งผู้บริหารของธนาคารพาณิชย์ยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งได้ให้คำแนะนำและสุดยอดเคล็ดลับการขอ สินเชื่อ ให้โดนใจธนาคารไว้ดังต่อไปนี้
 
 
1. Statement สำคัญ
ธนาคารไม่ได้รู้จักใกล้ชิดกับลูกค้าดีทุกคน และงบการเงินของธุรกิจเล็กๆ โดยเฉพาะธุรกิจ SME โดยเฉลี่ยมีความผิดพลาดที่สูงมาก และมากกว่า 80% ไม่มีงบการเงินมาแสดง ทุกธนาคารจึงอ้างอิงกระแสเงินสดเข้า – ออกบัญชีหรือที่เรียกกันว่ายอดหมุนเวียนบัญชี มาเป็นตัวในการประเมินรายได้
 
ดังนั้นการประเมินจึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะสร้างประวัติธุรกิจของผู้ประกอบการให้กับธนาคารได้รับทราบ ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องเดิน statement ในจุดนี้ให้ดีๆ พร้อมทั้งความสวยงามในระบบบัญชี มีการเข้าออกของเงินในการทำธุรกิจอยู่อย่างเสมอ เวลาถอนเงินไม่ควรที่จะทำการเบิกเงินจนเกลี้ยงบัญชี และต้องขยันนำสมุดบัญชีไปอัพเดทบ่อยๆ
 
 
2. เครดิตดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
เครดิตหรือความน่าเชื่อถือคือสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ทางธนาคารให้ความสำคัญเป็นอย่างสูง ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรใส่ใจในประวัติทางการชำระเงินทั้งบัตรเครดิตของตนเองหรือสินเชื่อชนิดต่างๆทั้งของตนเองและของหุ้นส่วนธุรกิจด้วย การมีระเบียบวินัยทางการเงินของผู้ประกอบการจึงถือเป็นคุณสมบัติประการต้นๆ ของการพิจารณาจากธนาคารพาณิชย์ (ข้อมูลเครดิตทางการเงินสามารถขอตรวจสอบได้จากทางธนาคารทั่วๆไป)
 
 
3. ระวังเช็คเด้ง!
ผลเสียอย่างใหญ่หลวงที่จะมีผลต่อการพิจารณา สินเชื่อ จากทางธนาคารก็คือการมีประวัติเช็คคืนหรือที่เรียกกันภาษาชาวบ้านตลาดสดว่าเช็คเด้งนั่นเอง ผู้ประกอบการจะต้องทำการป้องกันมิให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นอันขาด ถ้าไม่มีเงินในบัญชีก็ไม่ควรจะสั่งจ่ายเช็คออกไปเพราะนอกจากจะมีปัญหาในเรื่องของประวัติที่จะมีผลกระทบต่อการขอ สินเชื่อ แล้วยังจะมีผลจะต้องรับผิดทางกฎหมายด้วย และเชื่อเถอะว่าไม่มีธนาคารรายใดจะยอมปล่อย สินเชื่อ ให้กับธุรกิจที่มีประวัติในเรื่องดังกล่าวแน่นอน
 
 
4. ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย
ปัญหาอย่างหนึ่งของการขอ สินเชื่อ คือ ผู้ประกอบการไม่ยอมให้ข้อมูลทางธุรกิจตามความเป็นจริงเพราะกลัวว่าข้อมูลทางธุรกิจจะถูกเปิดเผยหรือกลัวว่าธนาคารจะไม่ให้สินเชื่อจึงตกแต่งบัญชีขึ้นมาเพื่อให้ดูดี ซึ่งเป็นวิธีการที่ผิดอย่างมหันต์เพราะถึงอย่างไรเสียธนาคารก็ตรวจสอบได้อยู่ดี ดังนั้นกรุณาบอกความจริงเรื่องรายได้และค่าใช้จ่ายต่างๆกับทางธนาคาร เพราะธนาคารจะรักษาความลับทางธุรกิจในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดีและไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลนี้ไปสู่ผู้อื่นได้โดยเฉพาะกับกรมสรรพากร
 
บัญชีซื้อ บัญชีขาย สำเนาใบกำกับภาษี ใบสั่งซื้อ ใบเสร็จรับเงิน ฯลฯ เป็นเอกสารที่มีค่ากับทางธนาคารมากเพราะเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งในการพิจารณา ดังนั้นอย่าทิ้งขว้างเด็ดขาดให้เก็บไว้เป็นอย่างดีและจัดหมวดหมู่ให้เป็นระเบียบทุกชิ้นด้วยเพื่อความสะดวกในการเรียกดูและนำมาตรวจสอบ
 
 
5. เลือกหลักประกันให้ดี
หลักประกันที่ดีที่สุด คือ สถานประกอบการ รองลงมาคือที่ดินที่มีไว้ในครอบครองแต่ไม่ได้ใช้เป็นสถานที่ประกอบการ สิ่งก่อสร้างหรือเครื่องจักร หลักประกันเหล่านี้จะมีประโยชน์สูงสุดและช่วยทำให้อนุมัติได้รวดเร็วและได้จำนวนเงินที่มากก็ต่อเมื่อธนาคารพิจารณาดูแล้วเห็นว่าสามารถเข้าไปครอบครองได้ทันทีและสะดวกในการขายทอดตลาดเพราะมีความต้องการซื้อสูง ถ้าเกิดมีปัญหาในกรณีที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น
 
6. ลูกหนี้ที่ดี ธนาคารชอบ
การทำธุรกิจ สินเชื่อ ของธนาคารไม่ได้มุ่งหวังที่จะเข้าไปครอบครองหลักประกันที่นำมาจำนองไว้แต่ประการใด แต่มุ่งหวังที่จะได้ดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเพียงเท่านั้น ดังนั้นธนาคารจะดูความสามารถในการชำระหนี้เป็นหลักจึงทำให้หลักประกันเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ถึงแม้ว่าหลักประก้นจะมีมูลค่ามากมายสักเพียงไหนก็ตาม การบริหารจัดการเรื่องทางการเงินภายในบริษัทจึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะต้องจัดสรรให้ลงตัว
 
 
7. สินเชื่อก็มีผล
ปัจจุบันนโยบายของทางธนาคารได้เปิดกว้างมากยิ่งขึ้นเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจโดยเฉพาะขนาดเล็กๆ จึงทำให้เกิดขอเสนอสินเชื่อธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องมีหลักประกันเกิดขึ้น โดยจะอยู่ในรูปของสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อประกอบธุรกิจที่มีอยู่ในทุกธนาคาร แต่ธนาคารจะถือว่าสินเชื่อประเภทนี้มีความเสี่ยงสูงมาก ดังนั้นคุณสมบัติของผู้ประกอบการที่จะขอต้องมีคุณสมบัติสูงกว่าปกติทั่วไปในเรื่องของประสบการณ์ ยอดเดินบัญชีตามไปด้วย สินเชื่อประเภทนี้สมัครและอนุมัติง่ายแต่ที่สำคัญคือดอกเบี้ยจะแพงกว่าปกติถึง 13.3% ต่อปี
 
 
8. เตรียมพร้อมเสมอ
การขอสินเชื่อที่ดีต้องมีการเตรียมพร้อมอยู่เสมอ ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องของเอกสารแล้ว สิ่งที่จำเป็นต้องทำ คือ ประเมินแผนการทางการเงินของผู้ประกอบการเองอย่างคร่าวๆ ว่าต้องการเงินสินเชื่อเป็นจำนวนเท่าไหร่ รายได้ต่อปีมากขนาดไหน และต้องการผ่อนชำระนานเป็นระยะเวลาเท่าไหร่ด้วย
 
ที่มา :  www.sanook.com/money/346113/